ผลวิจัยล่าสุดของแพทย์อเมริกันจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ในสหรัฐฯชี้ว่า ไม่ควรใช้ กระสุนยาง หรือกระสุนพลาสติก รวมทั้งกระสุนชนิดอื่น ๆ ที่ได้ชื่อว่าไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เข้าปราบปรามฝูงชนในเหตุจลาจลหรือเหตุอาชญากรรมอื่น ๆ เนื่องจากพบว่ามีโอกาสทำให้บาดเจ็บสาหัส เกิดความพิการอย่างถาวร หรือกระทั่งเสียชีวิตได้สูงกว่าที่คาดกันไว้
แพทย์หญิงโรหิณี ฮาร์ ผู้นำทีมวิจัยและสมาชิกขององค์การแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวลงในวารสารวิชาการ BMJ Open โดยระบุว่ากระสุนยางหรือกระสุนชนิดที่คิดกันว่าปลอดภัยไม่ทำให้คนตายได้นั้น มีโอกาสจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้สูงกว่าที่คิด ทั้งในการยิงระยะประชิดและในการเล็งยิงจากระยะไกล
ผลการวิเคราะห์งานวิจัย 26 ชิ้น ที่ได้ศึกษาผู้ถูกยิงด้วยกระสุนยาง กระสุนพลาสติก กระสุนยางผสมโลหะ และกระสุนโพลียูรีเทนปลายกลวง (AEP) รวม 1,984 คน นับแต่ปี 1990 เป็นต้นมา พบว่า 15% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บกลายเป็นผู้พิการถาวรโดยส่วนใหญ่มักตาบอด โดยคนกลุ่มนี้ 80% ถูกยิงด้วยกระสุนยางผสมโลหะ นอกจากนี้ ผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางส่วนใหญ่จะบาดเจ็บสาหัส และในจำนวนนี้ 3% (ราว 51 คน) เสียชีวิต
“การยิงกระสุนยางในระยะประชิด แม้จะเล็งเป้าหมายได้ดีกว่า แต่กระสุนก็จะมีพลังรุนแรงเท่ากับกระสุนจริง จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากเล็งยิงกระสุนยางในระยะที่ห่างออกไป ความแม่นยำจะลดลงอย่างมาก เพราะกระสุนยางนั้นทั้งกระเด้งกระดอนและควงสว่านในอากาศ จนทิศทางเบี่ยงเบนพลาดเป้าได้ง่ายกว่ากระสุนจริง บ่อยครั้งผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตคือคนรอบข้างที่ถูกลูกหลง มากกว่าจะเป็นเป้าหมาย” แพทย์หญิงฮาร์กล่าว
ผู้วิจัยยังบอกว่า “ระยะการยิงที่ปลอดภัย” สำหรับการใช้กระสุนยางนั้น มีความแตกต่างกันออกไประหว่างผู้ผลิตแต่ละเจ้ารวมทั้งขึ้นอยู่กับรุ่นของอาวุธปืนที่ใช้ยิงด้วย ทำให้เป็นการยากที่จะคาดคะเนหรือประมาณระยะการยิงที่ปลอดภัยนี้ได้อย่างถูกต้อง จึงไม่ควรนำมาใช้ในการควบคุมฝูงชน
ทั้งนี้ กระสุนยางหรือกระสุนพลาสติก รวมทั้งกระสุนบางชนิดที่เป็นโลหะบรรจุในถุงผ้า ถูกผลิตขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายใช้ยับยั้งบุคคลหรือฝูงชนที่อาจจะก่อเหตุสร้างความเสียหาย โดยไม่ให้บุคคลนั้นต้องเป็นอันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต โดยมีการออกแบบให้กระสุนประเภทนี้ลดความเร็วลงเรื่อย ๆ หลังถูกยิงออกมา จนแรงตกกระทบขณะถึงเป้าหมายไม่รุนแรงจนทำให้เสียชีวิตเหมือนกระสุนจริง และโดยทั่วไปแล้ว มักมีคำแนะนำแก่ผู้ใช้กระสุนยางหรือกระสุนพลาสติกให้เล็งยิงที่ขาของเป้าหมายเพื่อความปลอดภัย
รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปลี่ยนจากการใช้กระสุนยาง มาเป็นกระสุนพลาสติกเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 และหลังจากนั้นได้ทยอยเปลี่ยนเป็นกระสุนโพลียูรีเทนปลายกลวง (AEP) แต่ทางการระบุว่ากระสุน AEP ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ควบคุมฝูงชน แต่ใช้เพื่อยับยั้งบุคคลอันตรายเพียงคนเดียวมากกว่า
ข้อมูลจาก : BBC
ข้อมูลจาก : BBC